วันอังคารที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2555

ยุติค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บ. แล้วที่มติเห็นพ้องจากสามฝ่ายคกก.ค่าจ้าง

ที่ประชุมคณะกรรมการค่าจ้างยุติค่าจ้างขั้นต่ำที่มติ 300 บาท ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล และภูเก็ต ส่วนเพิ่มค่าจ้างทุกจังหวัดเฉลี่ยที่ 40 เปอร์เซ็นต์ แต่ต้องเลื่อนจาก 1 ม.ค. 2555 ไปเป็น 1 เม.ย. 2555 แทน เหตุเพราะฝ่ายนายจ้างประสบเคราะห์น้ำท่วมย่ำแย่ถ้วนหน้า ต้องรอฟื้นฟูหลังน้ำลด ชี้ขึ้นแล้วคาดหวังผลิตภาพ ผลิตผลควรสูงขึ้น นายจ้างที่ขึ้นแล้วให้คงอัตรานี้ถึงปี 58 จังหวัดใดยังไม่ได้ปรับจะเริ่มปรับให้ในปี 56 พร้อมกันรัฐบาลมีมาตรการค้ำจุนนายจ้างไม่ให้แบกรับฝ่ายเดียว
          วันนี้ (17 ตุลาคม 2554)  นายสมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์  ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการค่าจ้าง ได้ประชุมคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 18 ครั้งที่ 12/2554 โดยใช้เวลาเพียงชั่วโมงเศษ ก็ได้ข้อสรุปว่า ที่ประชุมมีมติปรับขึ้นค่าจ้าง 40 เปอร์เซ็นต์ ในวันที่ 1 เมษายน 2555 ซึ่งต้องเลื่อนระยะเวลาจากเดิมวันที่ 1 มกราคม 2555 เนื่องจากนายจ้างต้องประสบภาวะน้ำท่วมได้รับความเสียหายจำนวนมาก และต้องใช้เวลาในการฟื้นฟูหลังน้ำลดแล้ว ทั้งนี้ ในการขึ้นเฉลี่ย 40 เปอร์เซ็นต์ ทุกจังหวัด ซึ่งจะมี 7 จังหวัดคือกรุงเทพฯ และปริมณฑลที่จะได้ค่าจ้างวันละ 300 บาท ได้แก่ ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรสาคร นครปฐม และสมุทรปราการ กับจังหวัดภูเก็ต ที่ได้ 300บาท โดยพิจารณาจากข้อมูลจากคณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัด และข้อเสนอของคณะอนุกรรมการวิชาการและกลั่นกรองในคณะกรรมการค่าจ้าง ไม่ได้ไม่เกี่ยวเนื่องกับการเจรจานอกรอบแต่อย่างใด เป็นความเห็นพ้องกันของตัวแทนสามฝ่ายในคณะกรรมการฯ
“และยังมีมติเพิ่มเติมจากคณะกรรมการค่าจ้าง ที่เห็นว่าเมื่อมีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละสามร้อยบาทแล้วก็จะคงอัตรานี้ไปจนถึงปี 2558 ส่วนจังหวัดที่ยังไม่ถึงสามร้อยบาทก็จะไปพิจารณาในปี 2556  แต่ก็ต้องดูสถานการณ์เศรษฐกิจว่าจะมีปัญหาหรือดีขึ้น ถ้าดีขึ้นคณะกรรมการก็จะทบทวนพิจารณาการขึ้นค่าจ้างต่อไปในอนาคต” ปลัดกระทรวงแรงงานกล่าว
สำหรับมติที่ประชุมคณะกรรมการค่าจ้างครั้งนี้ ทางปลัดกระทรวงแรงงานชี้แจงว่า เป็นผลสืบเนื่องจากการตั้งคณะทำงานร่วมกันมากว่าสองสามเดือนที่ผ่านมา มีกระทรวงแรงงาน กระทรวงการคลัง และกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ร่วมเป็นคณะทำงานศึกษา มีมาตรการต่างๆ เพื่อช่วยเหลือ ซึ่งเมื่อเพิ่มค่าจ้างแล้วทางผู้ประกอบการก็หวังที่ทางลูกจ้างจะเพิ่มผลิตภาพให้สูงขึ้น เพื่อกระตุ้นยอดการจำหน่ายผลิตภัณฑ์สินค้าให้สูงขึ้นตามมาด้วย โดยได้เชิญ ดร.สมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง มาร่วมให้ข้อมูล ซึ่งก็ได้เสนอต่อที่ประชุมเห็นพ้องกันว่าจะสามารถนำค่าใช้จ่ายส่วนต่างที่เกิดขึ้นจากการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาท และการขึ้น 40 เปอร์เซ็นต์นี้ไปหักเป็นค่าใช้จ่ายด้านภาษีได้ 1.5 เท่า และจะมีผลต่อผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอีกว่า 300,000รายต่อไป ซึ่งนอกจากมาตรการลดภาษีนิติบุคคลนี้แล้ว ยังมีมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการด้านการลดเงินสมทบประกันสังคมฝ่ายนายจ้างและลูกจ้างฝ่ายละ 1.5 เปอร์เซ็นต์ จะครอบคลุมแรงงานในระบบประกันสังคมกว่า 9.6 ล้านคน แต่จะไม่กระทบต่อสิทธิประโยชน์ต่างๆ ของผู้ประกันตน ตลอดจนจะมีการใช้กองทุนกรมพัฒนาฝีมือแรงงานมาใช้ฝึกพัฒนาฝีมือแรงงานให้เพิ่มผลิตภาพแก่ผู้ประกอบการต่อไป และยังมีในส่วนโครงการปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำอัตราคงที่ 2-3 ปี วงเงิน 10,000 ล้านบาทแก่ผู้ประกันตนและผู้ประกอบการในระบบประกันสังคม ที่ได้พิจารณาไว้พร้อมแล้ว

ภาพการประชุม


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ข่าวสารจากสำนักงานแรงงานจังหวัดกระบี่